สถานที่ลำดับที่ ๓ ซึ่งผมได้เดินทางมาเก็บภาพเข้าร่วมใน “อักขรานุกรม” จากโครงการ Canon Redefine 2 ก็คือที่ซึ่งจินตนาการกลายมาเป็นคุณประโยชน์ ซึ่งผมเลือกใช้อักษร ช.ช้าง สำหรับโครงการนี้ เพราะเค้าเปิดกว้างให้ใช้อักษรใดก็ได้ที่ปรากฏอยู่ในชื่อโครงการตามพระราชดำริแห่งนั้น

“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” …ข้อความนี้เป็นจริงแค่ไหน? ไม่ต้องดูอื่นไกล ดูจากแนวคิดจากโครงการตามพระราชดำริที่สร้างคุณประโยชน์ต่อผืนแผ่นดินไทยอย่างมากมายก็ยังได้เลยครับ

ใครเล่าที่จะเห็นพฤติกรรมการกักตุนกล้วยเอาไว้ในกระพุ้งแก้มของเหล่าเจ้าจ๋อเพื่อจะเก็บไปเคี้ยวกินในภายหลัง แล้วแปลสิ่งที่เห็นนั้นผ่านจินตนาการออกมาเป็นเนื้องานได้บ้าง?

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ ๙) ได้ทรงเปลี่ยนสิ่งที่พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นเหล่าวานรที่พากันเก็บกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มให้กลายมาเป็น “โครงการแก้มลิง” เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในยามน้ำหลากได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง ดังปรากฏไปเป็นโครงการในพระราชดำริอันมีชื่อเรียกแสนน่ารัก ง่ายต่อการเห็นภาพ รับรู้และเข้าใจได้ไม่ยาก

“ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง” ทรงมีพระราชกระแสอธิบายถึงแนวคิด เพราะพระองค์ทรงตระหนักถึงความเดือนร้อนของประชาชนต่อเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพในปี พ.ศ. ๒๕๓๘

ในช่วงฤดูน้ำหลากนั้น น้ำจะพากันไหลหลากลงมาจากทางด้านเหนือเพื่อมุ่งหน้าออกสู่ทะเลตามแรงโน้มถ่วงของโลก แต่เพราะโลกนี้มีปรากฏการณ์ “น้ำทะเลหนุน” อยู่ด้วย เมื่อถึงเวลานั้นระดับน้ำทะเลก็จะผลักดันมวลน้ำกลับเข้ามาในแผ่นดิน น้ำเหนือที่ประดังลงมาก็จะปราศจากทางไปอย่างที่ควรจะเป็น เลยพากันเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่อันไม่ใช่ทางน้ำและขังอยู่อย่างนั้น สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนในเมือง ตลอดไปจนถึงสร้างความเสียหายให้กับเรือกสวนไร่นาในบริเวณโดยรอบอย่างไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ซึ่งก็จะตามมาด้วยปัญหาอีกสารพัดอย่าง แม้กระทั่งโรคภัยไข้เจ็บอันเกิดจากน้ำท่วมขังด้วย อย่างน้อยๆ ก็พวกยุงปริมาณมหาศาลใช่ไหมล่ะครับ?

แนวคิดของโครงการแก้มลิงจะใช้พื้นที่เพื่อทำการนำน้ำหลากเหล่านั้นมาเก็บพักไว้อย่างเป็นที่เป็นทางเพื่อไม่ให้เอ่อท่วมไปทั่ว และเมื่อระยะเวลาที่น้ำทะเลหนุนสูงสิ้นสุดลงก็จะปล่อยปริมาณน้ำเหล่านั้นไปตามทิศทางลงสู่ทะเลอย่างที่ควรจะเป็น แถมน้ำเหล่านั้นยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายทาง อย่างเช่นสนับสนุนการเกษตร หรือแม้กระทั่งไล่น้ำเสียเดิมลงทะเลไปก็ยังได้

ลักษณะของโครงการแก้มลิงเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมนี้แบ่งออกเป็นสามชนิด นั่นก็คือ 

• แก้มลิงขนาดใหญ่ ที่เป็นสิ่งก่อสร้างซึ่งเรารู้จักกันดีอย่าง เขื่อน, ฝาย 

• แก้มลิงขนาดกลาง จะใช้แม่น้ำลำคลองบริเวณชายทะเลเป็นส่วนพักน้ำ

• แก้มลิงขนาดเล็ก ใช้พื้นที่ทั่วไปในการไล่น้ำมาเก็บไว้ เช่น ลานจอดรถ, สนามเด็กเล่น ที่อยู่ใกล้ทางระบายน้ำ

โครงการแก้มลิงเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังกรุงเทพและปริมณฑลนั้นแบ่งเป็นสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีอยู่หลายแห่งด้วยกัน หนึ่งในจุดที่น่าสนใจก็คือ “โครงการแก้มลิงแม่น้ำท่าจีนตอนล่าง” ซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่จะระบายน้ำออกสู่ทะเลที่ปากอ่าวมหาชัย จ.สมุทรสาคร

ถ้าคุณเดินทางจากกรุงเทพไปเที่ยวเล่นที่อัมพวาโดยใช้ถนนพระราม ๒ ก็จะต้องข้ามสะพานแม่น้ำท่าจีนซึ่งใกล้กับอ่าวมหาชัยก่อนนั่นแหละครับ

ก่อนที่จะมีโครงการแก้มลิงตรงนี้ เมื่อฤดูน้ำหลากเจอเข้ากับช่วงน้ำทะเลหนุนสูง น้ำในแม่น้ำก็จะระบายออกสู่ทะเลไม่ได้ (เผลอๆ น้ำทะเลยังดันกลับเข้ามาให้ระดับน้ำในแม่น้ำสูงกว่าเดิมอีกต่างหาก) เมื่อน้ำเหนือก็ไหลลงมาสบทบเรื่อยๆ ในลำคลองสาขาต่างๆ ก็ย่อมจะต้องมีระดับน้ำที่สูงขึ้นกว่าเดิมเช่นกัน และเมื่อพ้นจากตลิ่งก็จำต้องท่วมเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ พืชผลเสียหายเดิอดร้อนกันทั่วหน้า ก็ในเมื่อคลองแถวนี้น้ำสูง ก็ย่อมจะทำให้คูคลองต่างๆ ที่เชื่อมไปถึงกรุงเทพสูงไปด้วย กรุงเทพก็เลยต้องเจอเข้ากับน้ำท่วมโดยปริยาย

เห็นไหมล่ะครับ ไม่ใช่แค่ชาวมหาชัยที่เดือดร้อนนี่นะ …ก็จนโครงการแก้มลิงแม่น้ำท่าจีนตอนล่างเกิดขึ้นมานี่แหละ ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฝั่งตะวันตกก็เลยซาๆ ไป

ตรงนี้ทำแก้มลิงกักเก็บน้ำยังไง? สำหรับโครงการแก้มลิงแม่น้ำท่าจีนตอนล่างนี้จะเป็นแก้มลิงขนาดกลางที่ใช้ลำคลองสองแห่งที่เชื่อมกับแม่น้ำท่าจีนเป็นพื้นที่รับน้ำ นั่นก็คือ “คลองสนามชัย-มหาชัย” และ “คลองสุนัขหอน” (ท่านใดผ่านถนนพระรามสองบ่อยๆ ช่วงมหาชัยก็จะได้ข้ามคลองสุนัขหอนนี่แหละ ชื่อเรียกร้องความสนใจดีจัง)

#ช #Redefine2 #ประตูระบายน้ำคลองสนามชัย-มหาชัย ชื่อภาพ…”ประตูมหาชัย”

ที่คลองสนามชัย-มหาชัยนี้ จะมีประตูระบายน้ำที่สามารถเปิด-ปิดกั้นน้ำได้ตลอดเวลา ในช่วงปกติก็จะปล่อยให้น้ำเหนือไหลออกสู่ทะเลอย่างที่ควรจะเป็นไปตามแรงโน้มถ่วงโลก แต่เมื่อถึงช่วงน้ำทะเลหนุนสูงก็จะทำการปิดประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะเลหนุนเข้ามา แล้วใช้วิธีการสูบน้ำที่หลากลงมาตามคลองเหนือประตูระบายน้ำออกไปทางคลองซ้ายขวาหรือส่งลงทะเลข้ามประตูระบายน้ำที่ปิดอยู่ ซึ่งวิธีการนี้ก็จะช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขังได้เพราะน้ำทะเลก็หนุนผ่านประตูระบายน้ำเข้ามาไม่ได้ น้ำที่ลงมาสมทบก็ถูกสูบข้ามประตูออกไปนั่นเอง

#ช #Redefine2 #ประตูระบายน้ำคลองสนามชัย-มหาชัย ชื่อภาพ…”กลางคลองสนามชัย”

นี่คือวิธีการบริหารจัดการปริมาณน้ำที่เคยมีปัญหาทำให้เกิดการท่วมขังตามแบบฉบับของแก้มลิง จากพระอัจฉริยะภาพของในหลวงรัชกาลที่ ๙ แห่งปวงชนชาวไทยนั่นเอง

อยากเชิญชวนให้แวะมาลองเที่ยวชมที่โครงการแก้มลิงคลองสนามชัย-มหาชัยครับ เราอาจจะคาดหวังเรื่องความสวยงามตามท้องเรื่องแห่งสถานที่ไม่ได้สักเท่าไหร่นักหรอก เพราะที่เหล่านี้ไม่ได้มีวัตถุระสงค์เพื่อความสวยงาม แต่คุณประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาคือเรื่องหลัก ซึ่งความสวยงามจะอยู่ตรงนั้นมากกว่า

#ช #Redefine2 #ประตูระบายน้ำคลองสนามชัย-มหาชัย ชื่อภาพ…”ไชยปราการ”

มาดูวิธีการและกลไกต่างๆ เหล่านี้ที่หน้างาน ผมเชื่อว่าแม้เราจะไม่ได้อาหารตาแต่เราก็จะได้อาหารสมองกลับไปเต็มๆ ซึ่งใครจะรู้ล่ะครับว่าการได้เห็นโครงการอันเกิดจาก “แก้มลิง” แบบนี้จะให้ไอเดียอะไรใหม่ๆ และความคิดที่หลากหลายใดๆ แก่เราได้บ้าง?

จากลิงกินกล้วยสู่การแก้น้ำท่วม…ลองมาดูสิครับว่าจินตนาการจากพ่อหลวงแห่งแผ่นดินได้ช่วยอะไรเราไว้บ้าง?

• ปิยะฉัตร แกหลง - มิถุนายน ๒๕๖๐ •