หมวดอักษร   ชื่อภาพ ประตูระบายน้ำรณิศนฤมิต
ภาพโดย คุณเทิดทูน กัลยา

โครงการประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เป็นโครงการหนึ่งในแผนงานก่อสร้างหลักของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต เป็นอาคารบังคับน้ำชนิดประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก บานระบายเหล็กโค้งขนาดความกว้าง 10x9 เมตร จำนวน 4 ช่อง มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง สามารถเก็บกักน้ำได้ 16.4 ล้านลูกบาศก์เมตร สนับสนุนพื้นที่การเกษตร 22,000 ไร่  ครั้นถึงฤดูฝนก็จะทำหน้าที่ระบายน้ำจากลำน้ำก่ำลงสู่แม่น้ำโขง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรที่ถูกน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ทำการเกษตร

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคด้วยเรือพระที่นั่งอังสนา ไปทรงประกอบพิธีเปิดโครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 5 แห่ง ณ กรมชลประทาน สามเสน โดยหนึ่งในนั้นคือโครงการประตูระบายน้ำ น้ำก่ำตอนล่าง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานชื่อ “ธรณิศนฤมิต” อันมีความหมายว่า ประตูระบายน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้จัดสร้างขึ้น

 

หมวดอักษร  ชื่อภาพ แหลมผักเบี้
ภาพโดย คุณเมธี เจริญสุข

ที่ริมหาดหน้าป่าชายเลน ณ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ชาวบ้านสามารถเก็บหอยด้วยมือเปล่าได้มากกว่าวันละ 3 ตัน เป็นกรณีตัวอย่างที่แสดงให้ถึงเห็นความอุดมสมบูรณ์ จากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในปี พ.ศ. 2533 ที่พระราชทานให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และกรมชลประทาน ร่วมกันศึกษาหาวิธีการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับขยะมูลฝอย น้ำเสีย และการรักษาสภาพป่าชายเลนด้วยวิธีทางธรรมชาติ โดยใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์บริเวณตำบลแหลมผักเบี้ย พื้นที่ประมาณ 1,135 ไร่ ซึ่งในขณะนั้นมีปัญหาน้ำเน่าเสีย จนถึงขั้นไม่สามารถนำน้ำมาใช้อุปโภคหรือบริโภคได้เลย ทางโครงการฯจึงทำการศึกษาและวิจัยตามพระราชดำริ จนกระทั่งได้รูปแบบของเทคโนโลยีเพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยวิธีธรรมชาติช่วยเหลือธรรมชาติ ได้แก่เทคโนโลยีการทำปุ๋ยหมักจากขยะ และเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย ระบบพืชและหญ้ากรองน้ำเสีย ระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม และระบบแปลงพืชป่าชายเลน ทำให้ระบบนิเวศป่าชายเลนแห่งนี้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้งอย่างในทุกวันนี้

 

หมวดอักษร  ชื่อภาพ สะพานพระรามแ 
ภาพโดย K.RUNGTIVA SIRIRUANGPANYA

จากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มอีก 1 แห่ง เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรบนสะพานพระปิ่นเกล้า และเป็นจุดเชื่อมต่อโครงการพระราชดำริตามแนวจตุรทิศ

สะพานพระราม 8 มีแนวสายทางเชื่อมต่อกับทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี จึงช่วยเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ช่วยระบายรถบนสะพานพระปิ่นเกล้าได้ถึง 30% และบนสะพานกรุงธนอีก 20% เริ่มเปิดใช้ในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2545

สะพานพระราม 8 มีความยาวรวม 475 เมตร เป็นสะพานหลักช่วงข้ามแม่น้ำ 300 เมตร สะพานยึดช่วงบนบก 100 เมตร และสะพานช่วงโครงสร้างยึดเสา 75 เมตร สูงเท่าสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า มีรูปแบบโดดเด่น สวยงาม เพราะออกแบบให้เป็นสะพานขึงแบบอสมมาตร ไม่มีเสารับน้ำหนักตั้งอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ไม่มีปัญหาต่อการสัญจรทางน้ำ รวมทั้งไม่กระทบต่อการจัดตั้งกระบวนพยุหยาตราชลมารค สายเคเบิลของสะพานพระราม 8 มีสีเหลืองทอง ซึ่งเป็นสีประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ส่องประกายงดงามเมื่อยามสะท้อนแสง โดยเฉพาะในตอนกลางคืน

หมวดอักษร   ชื่อภาพ ผักไฮโดรโปนิกส์
ภาพโดย K.Suriya Phollakorn

แปลงปลูกผักระบบไฮโดรโปนิกส์ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ซึ่งเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม ทดแทนการปลูกฝิ่น ใช้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก และไม้ดอก เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรชาวเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ สถานีเกษตรหลวงอ่างขางตั้งอยู่บนดอยอ่างขาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร มีพื้นที่ที่ใช้ทำการเกษตรในงานวิจัยประมาณ 1,989 ไร่

การปลูกผักระบบไฮโดรโปนิกส์ คือเทคโนโลยีการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน อาศัยหลักการคล้ายคลึงกับการปลูกผักแบบธรรมดา แต่มีการพัฒนาปรับปรุงวิธีการ ทำให้สามารถปลูกผักได้ในบริเวณที่มีพื้นที่จำกัด หรือในบริเวณที่พื้นดินเดิมขาดความอุดมสมบูรณ์ โดยไม่จำเป็นต้องปรับปรุงสภาพพื้นดินเดิม เนื่องจากมีการให้ธาตุอาหารในลักษณะของสารละลายผ่านระบบการปลูกพืชผัก โดยที่ระบบรากพืชจะไม่ได้สัมผัสกับดินจริงๆ แต่ยึดอยู่กับแผ่นฟองน้ำหรือแผ่นโฟมที่วางอยู่ในรางปลูก

หมวดอักษร  ชื่อภาพ อัมวาชัยพัฒนานุรักษ์
ภาพโดย K.Eakjira Sawasdee

สองมือและหนึ่งใจของคนในชุมชน บรรจงสานหมวกด้วยความชำนาญและประณีต เพื่อสืบสานวิถีชีวิตดั้งเดิม เพื่อเดินตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์

โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ดำเนินงานตามแนวพระราชดำริว่าให้พัฒนาและอนุรักษ์ศิลปกรรม วิถีชีวิต และวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชุมชนอัมพวา และพัฒนาพื้นที่ให้เกิดศักยภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ รวมทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้พื้นเมือง การรักษาระบบนิเวศของสวนผลไม้ เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลวิถีชีวิตของชุมชนอัมพวา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับชุมชน จากการจำหน่ายผลผลิต ผลิตภัณฑ์แปรรูป และค่าตอบแทนจากการให้บริการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นอกจากนั้นยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแบบบูรณาการ โดยสร้างโอกาสให้ชุมชน องค์กรท้องถิ่น และองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อให้เกิดความสมดุลในการพัฒนาและการพึ่งพาตนเองของชุมชน ตามแนวคิดระบบเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป