ก่อนอื่นคงต้องขอเกริ่นว่างานประเพณีวิ่งควายนั้นเป็นโครงการที่อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดชลบุรีที่มีมาแต่โบราณ คือประเพณีที่เกี่ยวกับอาชีพเกษตรกรรม แสดงถึงความกตัญญูเพราะควายเป็นสัตว์ที่มีบุญคุณต่อชาวนาทำงานในท้องนามาอย่างเหน็ดเหนื่อย

ซึ่งในการแข่งขันจะมีอยู่ 2 ประเภทก็คือ ”ควายน้ำ” คือควายที่วิ่งในพื้นที่ท้องนามีน้ำขังแฉะ และ ”ควายบก” คือควายที่วิ่งในพื้นที่สนามแห้ง กติกาการแข่งขันคือ หากใครมือหลุดจากคราดวิ่งตามไม่ทันในกรณีของวิ่งควายน้ำถือว่าปรับแพ้ ส่วนวิ่งควายบกหากใครตกหลังก็ปรับแพ้เช่นกัน

ในปัจจุบันการวิ่งควายจะถูกแบ่งออกเป็น 5 รุ่น ได้แก่ รุ่นซุปเปอร์จิ๋ว รุ่นจิ๋วพิเศษ รุ่นจิ๋วเล็ก รุ่นจิ๋วใหญ่ และรุ่นใหญ่ นอกจากนี้ก็ยังมีการประกวดควายประเภทสวยงามและพ่อพันธ์แม่พันธ์ ระหว่างก่อนการแข่งขันก็จะมีการอาบน้ำให้กับควายและจะมีการฉีดน้ำให้ควายตลอด เพื่อคลายความร้อนจากสภาพอากาศให้กับควาย

เทคนิคการถ่ายงานวิ่งควายคือ การถ่ายภาพนิ่งด้วยการใช้ความเร็วชัดเตอร์สูง เพื่อทำให้ภาพมีความคมชัดและน้ำกระเซ็นออกมา ส่วนการแพลนกล้องตามก็เพื่อสร้างภาพเคลื่อนไหว

เริ่มต้นคือตั้งจุดโฟกัสไว้ ถ้าหากควายวิ่งมาทางขวาให้ตั้งจุดโฟกัสไว้ที่กลางขวา หากควายวิ่งมาจากทางซ้ายให้ตั้งจุดโฟกัสไว้ที่กลางซ้าย ใช้การถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง ปรับการโฟกัสอัตโนมัติเป็น Al Servo AF ต่อด้วยการจับจุดโฟกัสให้จับที่ส่วนหัว ลำตัว ตัวคน ตัวนำหน้า หรือตัวที่อยู่ใกล้เรามากที่สุด

ก่อนจากกันไป การถ่ายภาพนั้นก็คงอยู่กับวิธีการและเทคนิคของแต่ล่ะท่าน ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์ มุมมอง จังหวะ และการใช้ความรู้สึกและอารมณ์เป็นตัวช่วยในการกดชัดเตอร์เพื่อถ่ายทอดความคิดของเราออกมา