ไม่ต้องออกทะเลไปไกล สะพายมิลเลอร์เลสไปอ่าวไทยก็เจอ “วาฬบรูด้า” 
 

 

ผม สมิทธิ์ สุติบุตร์ คนที่รู้จักผมดีพอควร จะรู้ว่าผมเป็นช่างภาพที่ใช้อุปกรณ์หลากรูปแบบ หลายยี่ห้อ ขึ้นอยู่กับโจทย์ในการถ่ายภาพว่าต้องการมุมมองแบบไหน? สื่อสารเรื่องอะไร?

 

ช่วงนี้กล้อง Mirrorless แบบ Full Frame กำลังมาแรง พอดีได้กล้อง Canon EOS R มาให้ลอง พร้อมเลนส์ซูมมาตรฐาน RF 24-105 mm f/4L USM แต่เนื่องจากผมถ่ายสัตว์ป่าเป็นหลัก เลยขอยืมเลนส์ EF 300 mm f/2.8L IS II USM มาอีกตัว ซึ่งสามารถใช้ร่วมกับ EOS R ด้วยการต่อ Mount Adapter EF-EOS R

 

ต้องยอมรับว่าปกติผมไม่ค่อยได้ใช้กล้อง Canon บ่อยนัก จึงถือเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ ทดลอง จะว่าไปแล้วระบบการทำงานของกล้องส่วนใหญ่มีพื้นฐานใช้งานไม่แตกต่างกันนัก ลองจับไม่นานก็เข้ามือและเข้าใจ

 

มีโอกาสออกทะเลไปถ่ายภาพวาฬบรูด้ากลางอ่าวไทยรูปตัว ก. โชคไม่ดีนักที่ปีสองปีที่ผ่านมา วาฬไม่ค่อยอ้าปากขึ้นกินปลาลูกเหยื่อเหนือผิวน้ำ ที่ผมเรียกว่า “ท่ามาตรฐาน” เข้าใจว่าปลากะตักที่เป็นอาหารโปรดมีปริมาณน้อยลง วาฬต้องหันไปกินปลาชนิดอื่นที่อยู่ใต้ผิวน้ำลึกลงไป จึงจำเป็นต้องใช้วิธีกินใต้น้ำหรือบางครั้งก็ตะแคงกิน แต่การว่ายน้ำพ่นลมหายใจและโชว์ครีบหลังนี่มีให้เห็นตลอด เพราะวาฬเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ต้องโผล่ขึ้นมาหายใจเป็นระยะ
 

 

 

เรามักพบวาฬว่ายน้ำห่างจากเรือพอสมควร ส่วนใหญ่จะรักษาระยะห่างประมาณ 50 เมตร เลนส์ 300 mm. เป็นระยะที่ผมมักใช้ถ่ายวาฬเป็นประจำ ได้ภาพตัววาฬไม่เล็กจนเกินไปนัก มีพื้นที่ว่างเผื่อวาฬแสดงพฤติกรรมน่าสนใจด้วย เช่น ขึ้นอ้าปากกิน ตีหาง หรือกระโดดขึ้นเหนือผิวน้ำ ที่สำคัญเลนส์มีขนาดไม่ใหญ่ น้ำหนักตัวไม่มาก ถือถ่ายได้คล่องตัวดี

 

 

ปัญหาที่พบบ่อยตอนถ่ายวาฬบรูด้าคือ หากทะเลมีคลื่นมาก แทนที่กล้องจะโฟกัสไปที่ตัววาฬ กลับโดนเกลียวคลื่นสับขาหลอก มีคนโวยวายว่าน้ำชัด-วาฬไม่ชัดให้ได้ยินเสมอ แต่กล้อง EOS R + เลนส์ EF 300 mm f/2.8L ก็ทำงานไม่ค่อยพลาด แม้จะผ่านอะแดปเตอร์ก็ตาม

 

บางครั้งวาฬโผล่ข้างเรือในระยะใกล้ จะเปลี่ยนเลนส์สั้นก็ไม่ทันการณ์เสียแล้ว เลนส์ 300 mm. ในมือจึงต้องทำหน้าที่ไปอย่างปฏิเสธไม่ได้ ภาพอย่างล้น

 


อยากลองเลนส์ 24-105 mm. ด้วย เลยนึกถึงบางปู ช่วงนี้มีนกนางนวลอพยพนับพัน นกจะวนเวียนมาโฉบกากหมู สามารถถ่ายนกได้ใกล้ๆ ไปถึงบางปูฟ้าครึ้มฝน แต่มีแดด ช่วยขับให้นกสีขาวโดดเด่นขึ้นมา ลองอัดด้วยระยะ 24 mm. ตั้งระบบโฟกัสแบบติดตามการเคลื่อนที่ ปกติเจอสถานการณ์แบบนี้กล้องตัวไหนก็ไปไม่เป็น มันไม่รู้หรอกว่าคนถ่ายต้องการโฟกัสที่นกตัวใด แถมนกดาหน้ามาเป็นฝูง บินสะเปะสะปะทั่วเฟรม และโฉบเฉี่ยวผ่านไปอย่างเร็ว ต้องถ่ายภาพแบบต่อเนื่องช่วย ยังดีที่กล้องโฟกัสตามตื้อแม่นและเดาใจผมถูกหลายภาพ (ฮ่า)

 

 

พอแสงเริ่มน้อย ลองดัน ISO สูงๆ หลักพัน (ปกติถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ผมไม่ใช้) คุณน้อย(ส์)ก็ยังไม่มาเยี่ยม โดยภาพรวมผมว่าไฟล์ภาพของ EOS R เนียนตาดีครับ ระบบโฟกัสก็ถือว่าไว้ใจได้ จอทัชสกรีนแบบพับได้อิสระนี่เข้าทางเลย สะดวกในการเลือกมุมมอง จิ้มลากจุดโฟกัสได้ตามใจ

 

เวลาหยิบจับไม่มาก กล้องยังมีการทำงานและลูกเล่นต่างๆ อีกมากมายที่ผมไม่รู้และไม่ได้ลอง ก็ไม่เป็นไร ได้ลองเล่นตามแบบฉบับของเราก็พอแล้ว อย่างไรก็ตาม กล้องแต่ละตัวมีข้อดีข้อเสียต่างกัน เลนส์แต่ละตัวก็มีบุคลิกไม่เหมือนกัน ต้องรู้จักหยิบเอาข้อดีที่ตอบโจทย์งานของเรามาใช้ให้เหมาะสมครับ