ภาพที่สื่อความสร้างสรรค์นั้นสำคัญไม่แพ้ภาพที่สื่ออารมณ์ นั่นเป็นสองสิ่งที่ แบล็ค - จักรพันธุ์ อิ่มอารี ถ่ายทอดฝีมือของตนเองออกมาทางภาพถ่ายได้อย่างมีเสน่ห์ไม่แพ้กัน แบล็คฝากผลงานด้านภาพถ่ายไว้มากมายโดยเฉพาะตามหน้านิตยสารต่างๆ ซึ่งผลงานของเขานั้นน่าจับตาทีเดียว ภาพถ่ายที่โดดเด่นนั้นมีตั้งแต่ภาพถ่ายบุคคล (Portrait), ภาพถ่ายผลิตภัณฑ์ (Product 26;amp; Packaging) ไปจนถึงภาพถ่ายอาหาร (Food) ที่แต่ละประเภทนั้นทำออกมาได้อย่างดีเยี่ยม ปัจจุบันเราอาจติดตามผลงานของเขาได้จากหลากหลายแหล่งโดยเฉพาะ THE MAGAZINE และ KING POWER ซึ่งผลงานภาพถ่ายเหล่านี้อาจจะบ่งบอกความเป็นตัวตนของเขาให้เรารับรู้ได้เป็นอย่างดีที่สุด


เส้นทางของการเป็นช่างภาพ


ความจริงแล้วผมจบด้านสิ่งพิมพ์มาจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ครับ จบมาก็นั่งทำงานทางด้าน Graphic Design อยู่หน้าคอมฯ กว่า 3 ปี ตอนนั้นรู้สึกว่ามันนิ่ง มันไม่สนุก มันไม่ได้เปิดโลกอะไรใหม่ๆ เลย อยู่กับที่ไม่ได้เคลื่อนไหวไปไหน ก็เลยตัดสินใจผันตัวเองไปหาอะไรใหม่ๆ ทำดีกว่า ตอนเรียนผมเคยไปฝึกงาน Graphic Design ที่นิตยสาร LIPS มาเกือบ 4 เดือน ตอนนั้นก็มีความอยากเป็นช่างภาพนะ พอเราเริ่มเบื่องาน Graphic Design ตอนนั้นเผอิญว่าพี่ที่ LIPS โทรมาบอกว่ารับผู้ช่วยช่างภาพพอดี ก็เลยสนใจ พอเข้ามาทำปุ๊บ แบบว่ามันใช่เลย มันตื่นเต้น มันได้เห็นคนหลากหลาย ได้ทำงานกับมืออาชีพ ได้เคลื่อนไหว ตอนเข้ามาแรกๆ นี่ไม่เป็นอะไรเลย ไม่ได้เรียนถ่ายภาพมาจริงจังด้วย แต่ก็อาศัยความชอบนี่แหละครับที่ทำให้เราไปต่อได้อย่างมีความสุข ใจเรามันชอบผจญภัย ชอบค้นหา ไม่ชอบอยู่นิ่ง หลังจากนั้นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้เราเดินทางมาได้จนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันนี้ก็ถ่ายหลักๆ ให้กับ THE MAGAZINE ก็จะเป็น Portrait กับถ่ายร้านอาหาร แล้วก็ KING POWER ส่วนใหญ่จะถ่าย Pack Shot แล้วก็ถ่ายโฆษณาให้เขาด้วย


ความยากของการเริ่มต้น

ผมว่ามันเป็นความสนุกของการเริ่มต้นมากกว่า งานแรกที่ LIPS ที่เราได้จับกล้องจริงๆ จังๆ นั้นคือการถ่าย Pack Shot ของเครื่องสำอางค์ NARS เขาเอามาให้ถ่ายบอกว่าจะลงเต็มหน้านิตยสาร ตอนนั้นเราก็ตื่นเต้นมาก มันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เลยนะ ขลุกอยู่ในสตูดิโอทั้งวันเลยจำได้ว่าถ่ายตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนบ่าย 3 ประณีตอยู่นั่นแหละ (หัวเราะ) สุดท้ายก็คัดเลือกรูปที่สมบูรณ์ที่สุดส่งให้สไตลิสต์ดูซึ่งเค้าคุมรูปแบบเล่มอยู่ พอเขาตอบมาว่าสวยดีนะ ตอนนั้นนี่ดีใจจนตัวลอยเลย แบบว่านี่แหละใช่เลยตัวเรา มันเป็นการเริ่มต้นที่ดีมาก

 

เอกลักษณ์ของภาพถ่ายสไตล์เรา

ผมชอบความเข้มนะ มันเป็นสไตล์ส่วนตัวที่เริ่มใส่เข้าไปโดยไม่รู้ตัวแล้วมันออกมาดี ระยะหลังก็เลยกลายเป็นเอกลักษณ์ภาพถ่ายของเราเลย อย่างการถ่ายเครื่องสำอาง จริงๆ แล้วส่วนใหญ่อาจจะชอบถ่ายใสๆ เคลียร์ๆ กัน พื้นขาว เห็น Packaging ชัด แต่ผมว่าบางทีภาพมันดูแบนไป ผมชอบให้มันมีน้ำหนัก ใส่ความเข้มเข้าไป ให้เห็นรูปทรงของผลิตภัณฑ์ บางทีเราก็ชอบถ่ายพื้นเข้มๆ มากกว่าพื้นสีอ่อนๆ โชคดีที่ส่วนใหญ่ชอบงานเรา เราก็เลยได้พัฒนาสไตล์ขึ้นมาเรื่อยๆ จนโดดเด่น

เอกลักษณ์อีกอย่างอาจเป็นเรื่อง Snap Shot ครับ อย่างตอนทำอยู่ LIPS นี่มีพี่คนหนึ่งที่เป็น Food Stylist เค้าชอบเราเวลา Snap รูป Snap คน แอบถ่ายไปเรื่อยๆ แล้วเขารู้สึกว่าเราถ่ายของเหมือนถ่ายคน มันได้มุมมองใหม่ๆ มุมมองที่เป็นธรรมชาติ อย่างถ่ายคนนี่ผมชอบเก็บรายละเอียดไปเรื่อยๆ นะ ไม่ชอบสั่งเป็นช็อตต่อช็อต ไม่ชอบเบรกเขา ภาพมันจะดูเป็นธรรมชาติไม่แข็ง ซึ่งพอไปถ่ายอาหารแบบ Snap Shot มันก็ให้ความรู้สึกเดียวกัน มีมุมมองใหม่ๆ น่าสนใจ



ความแตกต่างของการทำงานแต่ละสไตล์


Portrait

ผมชอบถ่ายภาพคนนะ มันสื่ออารมณ์ได้ดี ส่วนตัวแล้วไม่ชอบเฟรมที่กว้างจนเกินไป ผมค่อนข้างจะชอบถ่ายแบบบีบเฟรมเข้ามา Portrait ที่ดีในความรู้สึกเรานั้นจะตีกรอบภาพตั้งแต่ช่วงประมาณราวนมขึ้นไป ไม่อยากให้พื้นที่ว่างหรือองค์ประกอบอื่นๆ มาแย่งความสนใจจากใบหน้าไป ผมชอบใช้เลนส์ EF 100mm หรือไม่ก็ EF 50mm ถ่าย เพราะระยะมันถ่ายคนได้ดี มันให้อารมณ์ของเรื่องสีผิว สีหน้า แววตา หรือแม้แต่อารมณ์ในยามที่เขาแสดงอากัปกิริยาอะไร อย่างมือ นิ้ว ฯลฯ มันทำให้เราโฟกัสเขาได้ใกล้ๆ เหมือนกำลังนั่งมองนั่งคุยกัน เวลาเราดูในช่องมองภาพเราจะดูที่ตาเขา เหมือนเรามองผ่านเลนส์ไปแล้วราวกับว่าเรากำลังนั่งมองดูเขาด้วยตาของเราเอง เหมือนการนั่งคุยกันปกติ เราแทบจะไม่ยกกล้องเลย แล้วมันจะได้อารมณ์ภาพที่ดีที่สุด ส่วนใหญ่แล้วภาพที่ดีของผมมักอยู่ใน 5 รูปแรกตอนที่เขายังไม่เกร็งมาก มันจะได้ธรรมชาติที่ดีเลย 



Best Portrait

ก่อนอื่นต้องบอกว่าสิ่งที่ผมรู้สึกเกร็งกับการทำงานมากที่สุดก็คือการถ่ายช่างภาพด้วยกันเอง (หัวเราะ) มันตื่นเต้นปนประหม่า ด้วยความที่รู้สึกว่าเป็นช่างภาพเหมือนกัน โดยเฉพาะถ่ายคนเก่งๆ อย่างที่เคยถ่ายมานี่ผมเกร็งมากๆ อยู่สองคนก็คือ น้าชำ-ชำนิ ทิพย์มณี กับช่างภาพอเมริกันคนหนึ่งที่ผมถ่ายเขาลงใน THE MAGAZINE นี่แหละ สิ่งที่เกร็งก็คือเราจะรู้สึกว่า เห้ย! จะทำยังไงให้ภาพออกมาสวยแล้วเขาชอบ อีกอย่างเวลาถ่ายฝรั่งด้วยความที่ภาษาอังกฤษเราไม่ได้ดีมากมันก็สื่อสารพื้นๆ ได้แค่นิดหน่อย เราต้องฉวยโอกาสในช่วงแรกที่เขาไม่เกร็งให้ได้มากที่สุด ตอนถ่ายช่างภาพคนนี้เราจัดแสงออกมาให้มันดูทะมึนหน่อย อารมณ์คล้ายหนังผี มันดูมี Shading มีความเข้มอ่อน เห็นแววตาที่สื่ออารมณ์ได้ดี ภาพนี้บางคนก็บอกว่ามันดูโหดนะ น่ากลัว เห็นริ้วรอยเข้าไปอีก แต่บางคนก็บอกว่ามันสวยมาก บอกเรื่องราวได้ดี ใส่ความเป็นศิลปะเข้าไปได้เยี่ยม มันเกิดการถกเถียงกัน แยกคนออกได้สองกลุ่ม ซึ่งผมชอบมากที่ภาพเรามีพลังขนาดนี้ ให้เกิดหลากหลายมุมมอง

-





Pack Shot

การถ่าย Pack Shot เป็นการทำงานกับตัวเอง มันได้สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา ผมไม่ชอบถ่ายอะไรนิ่งๆ เรามักใส่อะไรลงไปเสมอ อะไรท้าทายมากๆ ยิ่งชอบ อย่างพวกหยดน้ำ, น้ำกระจาย, อะไรแตกๆ นี่ชอบมาก รู้สึกตื่นเต้น ได้ลองเทคนิคอะไรใหม่ๆ หรืออย่างการจัดองค์ประกอบศิลป์ วางโน่นวางนี่ ฯลฯ ผมว่ามันสนุกมาก ได้ควบคุมในแบบที่เราต้องการ

สมัยนี้เป็นยุคดิจิตอล ยิ่งมีการรีทัชเข้ามา ทำได้ตามฝันทุกอย่าง แต่โชคดีที่เราเกิดมาเจอสองยุค คือยุคฟิล์มที่แทบจะจบงานด้วยการถ่ายช็อตเดียวเลย กับยุคดิจิตอลที่ถ่ายโน่นถ่ายนี่แล้วเอามาประกอบกันทีหลังได้ มันเลยทำให้เราทำงานเป็นทั้งสองฝั่งแล้วออกมาเป็นสไตล์ที่ดี ผมว่าการจะถ่าย Pack Shot ที่ดีจะต้องวางแผนที่ดีด้วย ดูว่าจะถ่ายอะไร ยังไง จัดวางยังไง ถ้าเราคิดจะรีทัชไม่ใช่ว่าถ่ายๆ ไปก่อน แล้วค่อยไปทำในคอมฯ ผมจะจัดทุกอย่างให้ครอบก่อน แสง เงา น้ำหนัก แล้วก็ถ่ายให้เสร็จ มันจะสมจริงมากกว่า แล้วเราก็ไปเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในคอมฯ พอ ไม่ใช่ว่าเก็บทุกอย่างแยกๆ กันแล้วมาประกอบ ซึ่งนั่นหมายความว่า Source ไม่ดี คนรีทัชก็อาจจะด่าได้ว่าถ่ายอะไรมา เพิ่มงานหนักเกินความจำเป็น รีทัชออกมาแย่ก็โดนด่าอีก เพราะฉะนั้นผมมักจะทำให้เสร็จตั้งแต่ต้นแล้วหลังจากนั้นทำงานให้น้อยที่สุด หรือถ้าจะต้องรีทัชในสิ่งที่เราทำไม่ได้ก็จะต้องวางแผนถ่าย Source ทุกอย่างให้ดีที่สุด เอาไปใช้รีทัชให้ได้ง่ายที่สุด #A0;



Best Pack Shot
งานที่ผมประทับใจที่สุดเลยเป็นของ KING POWER ชิ้นหนึ่ง ตอนนั้นทำงานร่วมกับบริษัท Visionary ซึ่งมีชื่อเสียงมาก ผมถ่ายของบนแผ่นเหล็กสามแบบที่มีพื้นผิวต่างกัน มีการสะท้อนแสงต่างกัน ด้วยความที่เราอ่อนประสบการณ์อยู่มันทำให้เราได้คิดอะไรที่ละเอียดลออ ได้ทดลอง ได้เรียนรู้ ซึ่งมันสอนอะไรให้กับเราเยอะมาก งานสมัยนั้นแทบจะเป็น One Shot เลยก็ว่าได้ รีทัชแค่เก็บผิวอะไรนิดหน่อยเท่านั้นเอง ภาพนี้รู้สึกว่ามันได้แก้ปัญหาทุกชิ้น ได้เรียนรู้ทุกขั้นตอน ได้ขลุกอยู่กับมัน ปั้นมันจนสวย จากยากๆ สุดท้ายกลายเป็นอะไรที่ง่ายมาก ใช้ไฟตัวเดียวเอง ตอนนั้นจำได้ถ่ายตั้งแต่ 9 โมงเช้ายัน 3 ทุ่ม ถ่ายนานมาก เกิดปัญหาเยอะมาก แต่มันก็สอนอะไรเราได้เยอะมากๆ ด้วย สอนว่าสิ่งที่ดีที่สุดอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำอะไรให้มันยากที่สุด สุดท้ายถ่ายออกมาแล้วเราชอบ ลูกค้าก็ชอบ งานนี้มันเป็นการถ่ายที่ให้อะไรกับเราเยอะมาก


-

Food Shot

จริงๆ แล้วผมถ่ายอาหารน้อยกว่าอย่างอื่น แต่ก็เป็นอะไรที่ได้เรียนรู้มากไม่แพ้กัน คนที่เราทำงานด้านนี้ด้วยแรกๆ ก็คือ พี่กอล์ฟ-เอกรินทร์ อยู่สุขสมบูรณ์ Food Stylist ชื่อดัง เขาเหมือนชี้เป้าให้เราเดิน ถ่ายอาหารควรต้องมุมนั้น มุมนี้ ถ่ายจานนี้ต้องมุมต่ำ ถ่ายจานนั้นต้องมุมสูงนะ มันทำให้เราได้คิด ได้เรียน ได้รู้ จนทำให้เราเห็นผลงานที่ออกมาว่าเออมันดีอย่างที่เขาบอกจริงๆ ทำให้เราเอาไปทำงานต่อได้

เอกลักษณ์ของเราในการถ่ายอาหารที่เด่นๆ มีอยู่สองเรื่องก็คือ Snap Shot กับ Day Light ในเรื่องของแสงธรรมชาตินี่เราจะชอบมาก เป็นคนชอบใช้แสงย้อนนิดๆ มันจะทำให้อาหารแบนน้อยที่สุด คือประมาณว่าถ้าเราถ่ายตามแสงมันจะดูไม่มีมิติเท่าไร ไม่ให้อารมณ์ การทำให้ภาพมีน้ำหนักมันทำให้คนดูมีความรู้สึก



กล้องตัวโปรด

ผมเริ่มต้นยุคดิจิตอลด้วยการใช้ Canon EOS 20D ครับ ตอนนั้นจับกล้องแบบ DSLR เป็นครั้งแรกเลย รู้สึกว่า เห้ย! มัน amazing มาก เรื่องของสี เรื่องของน้ำหนักภาพ เรื่องของสีที่เป็นธรรมชาติสมจริง ฯลฯ ซึ่งมันถ่ายภาพเชิงพาณิชย์ออกมาได้ดีเลย พอต่อมาก็ขยับมาเป็น Canon EOS 5D แล้วก็ปัจจุบันมาเป็น Canon EOS 5D Mark III ก็ยังรู้สึกว่าภาพที่ออกมายังสมบูรณ์เหมือนเดิม แล้วเทคโนโลยีที่พัฒนาควบคู่กันมาก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนตัวผมรู้สึกว่าเขาพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเข้าใจคนใช้งานนะ มันง่าย มันสะดวกต่อการใช้งานของคนถ่ายภาพ

ฟังก์ชั่นที่ผมชอบมากเป็นพิเศษก็คือเรื่องของโหมดชัตเตอร์เงียบ มันเยี่ยมมากๆ อย่างเมื่อก่อนเราไป Snap ภาพในที่ประชุมก็ดี หรือกองถ่ายก็ดี เสียงชัตเตอร์มันจะดูรบกวนมาก โดยเฉพาะงานที่ต้องการความเงียบที่สุด พอมีเสียงชัตเตอร์ปั๊บนี่ทุกคนก็หันมามองเราเลย มันทำให้การทำงานของเรามีปัญหาไปเลยทีเดียว แต่พอมามีโหมดเงียบนี่มันมีความสุขมาก ทำงานได้ทุกที่โดยที่ไม่ต้องกลัวเรื่องเสียงรบกวนและคนหันมามองด้วยสายตาไม่เป็นมิตรอีกแล้ว (หัวเราะ) อันนี้เป็นการพัฒนาที่เป็นเบสิคมากๆ แต่ผมถือว่าเข้าใจจิตใจของคนใช้งานได้เป็นอย่างดีที่สุด มันอาจไม่ใช่เทคโนโลยีเรื่องภาพโดยตรง แต่มันเป็นรายละเอียดของการใส่ใจที่ให้ความรู้สึกดีๆ ในมุมอื่นที่ทำให้เราประทับใจ Canon มากขึ้น



คำแนะนำสำหรับคนที่สนใจก้าวสู่เส้นทางช่างภาพมืออาชีพ

สิ่งสำคัญในยุคนี้ผมว่ามันอยู่ที่มุมมองนะ ไม่ใช่ที่อุปกรณ์เป็นหลักแล้ว เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็มีกล้องได้ มีหลายคนถ่ายกล้องตัวเล็กได้ดีกว่ากล้องตัวใหญ่ หลายคนถ่ายด้วยกล้องมือถือแล้วดีกว่ากล้องแพงๆ อีก ผมว่ามันต้องเริ่มจากการใส่ใจมุมมองของตนเอง ไม่ใช่อยากมีกล้องดีๆ แล้วจะดูเท่ ดูโปร ดูถ่ายรูปสวย ไม่ใช่อยากเริ่มต้นด้วยจุดที่ว่าอยากจะเป็นช่างภาพมืออาชีพ ไม่งั้นคุณจะแค่ถ่ายรูปได้ แต่ภาพอาจไม่สวย ไม่มีเสน่ห์ ไม่เป็นตัวคุณ

ถ้าเราโตด้วยการมีมุมมองภาพที่ดีมันจะโตนานโตแบบมีทิศทางเป็นของตัวเอง พัฒนาจากมุมมองก่อน อย่างเพิ่งไปยึดติดกับอุปกรณ์หรือความเท่ภายนอก พอมุมมองเราเริ่มดี เทคนิคที่แนะนำเพิ่มเติมก็คือให้ลองใช้เลนส์ฟิกส์ (Fixed-focus lens) ถ่าย เพราะมันจะฝึกให้เราเป็นคนคิดก่อนถ่ายได้ดี ไม่ใช่ปรับหมุนเลนส์แบบง่ายๆ ไม่ต้องวางแผนอะไร การใช้เลนส์ฟิกส์มันจะฝึกให้เราเป็นคนไม่ลังเล ถ่ายภาพไว แม่น จบเร็ว แล้วได้ภาพที่ดี กระชับรวดเร็ว ไม่วุ่นวายมาก ซึ่งผมว่ามันเป็นพื้นฐานที่ดีในการทำงานในอนาคตเลยล่ะ เอาไปประยุกต์ใช้กับการทำงานอื่นๆ ได้ดีด้วย