05 Nov 14

 

 

ผมสนใจในแสงธรรมชาติเสมอมา

 

     ตั้งแต่เริ่มหัดเรียนถ่ายภาพ เราได้ศึกษาเรียนรู้วิธีใช้แหล่งแสงในการถ่ายภาพให้ได้หลากหลาย ทั้งในและนอกสตูดิโอ แสงไฟ อิเล็คโทรนิคสอนเราให้รู้จักการควบคุม หลักการในการคอมโพสแสงแบบต่างๆ เพื่อควบคุมการสร้างความรู้สึกของ subject ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเบื้องต้นที่จะพัฒนาตัวเองสู่การเป็นช่างภาพอาชีพในแบบต่างๆ แสงธรรมชาติก็เช่นกัน มันให้คาแรกเตอร์ที่น่าสนใจ เพียงแต่ ข้อจำกัดของแสงธรรมชาติ คือไม่สามารถควบคุมได้, แสงธรรมชาติสอนให้เราเคารพธรรมชาติ รู้จักเจียมตัวกับแหล่งแสงที่ใหญ่ที่สุด
 

     ถึงควบคุมไม่ได้ก็จริง แต่เรียนรู้การใช้งานก็ไม่ใช่เรื่องลำบาก สิ่งสำคัญที่เราเรียนรู้ได้คือการควบคุมตัวเอง เรียนรู้ลักษณะของแสงในแต่ละช่วงเวลา แล้วเตรียมตัวและเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมก่อนการทำงาน สำหรับอาชีพช่างภาพการเตรียมตัวเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการวางแผนการทำงานและบวกเผื่อการคาดคะเนความผิดพลาด สำหรับผมเหล่านี้ถือเป็นครึ่งหนึ่งของการทำงานทั้งหมด
 

     หากต้องการถ่ายพอร์ตเทรต เราต้องรู้จักลักษณะของฟิกเกอร์คนนั้นๆ ไม่ใช่แค่ สูง หรือ ผอม แต่ สูงอย่างไร ผอมลักษณะไหน โครงร่างมีผลต่อความรู้สึกในการแสดงออกข้างในเฟรม ผมชอบที่จะสังเกตลักษณะพื้นฐานของคน ด้วยแต่ละคนมีลักษณะพิเศษบางอย่างที่แสดงออกไม่เหมือนกัน อาทิ การก้าวเดิน วิธีการวางมือ การพูด การหยิบจับสิ่งของ วิธีนั่งหรือเดิน ฯลฯ บางคนพูดคุยและชอบวางมือประสาน บางคนล้วงกระเป๋าเวลายืน ถ้าเป็นคนที่มั่นใจมากเวลาพูดคุยด้วยอาจจะมองตาเราอย่างจริงจัง หลายลักษณะแสดงออกให้เราเห็นฉับพลัน อยู่ที่การฝึกฝนที่จะสังเกต อีกครึ่งที่เหลือก็อยู่ที่หน้างาน และตบท้ายที่ขั้นตอนการจัดการไฟล์อีกนิดหน่อย


 

 

     วิธีง่ายๆ ที่ผมเลือกใช้อยู่บ่อยครั้ง คือแสงจากหน้าต่าง(Window light) ในวันที่แดดดีๆ หากเราเลือกหน้าต่างใหญ่มากพอ แสงที่ได้จะคล้าย Soft box ขนาดใหญ่ หากขยับ subject เข้าใกล้หน้าต่างมาก contrast ก็จะมากตาม แต่ถ้าอยากให้ดูซอฟท์ขึ้น ก็ถอยออกห่าง ลักษณะเงาอาจจะลึก แต่ก็ให้ผลลัพท์ที่น่าสนใจไม่น้อย ส่วนข้อเสีย คือ จะถ่ายยากมากขึ้น กล้องอาจจะสั่นเพราะ speed ต่ำลง หากใช้ F-stop กว้างๆ การโฟกัสอาจจะหลุดได้ง่าย ทั้งนี้การปรับตั้งแบบ Auto และ Manual Canon EOS 6D(Full frame) แก้ปัญหาลักษณะนี้ได้น่าสนใจ ถึงแม้จะลดจุดโฟกัสน้อยลงจากรุ่น 5D และไปรวมอยู่ช่วงกลาง แต่ทั้งหมดก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร แถมสิ่งที่ได้คืนมา คือ การโฟกัสที่เร็วและแม่นยำมาก อย่างที่อาจจะรู้กันว่า การใช้รูรับแสงกว้างโอกาสที่จะโฟกัสพลาดมีค่อนข้างสูง ยิ่งในห้องหรือสถานที่ที่มีแสงน้อย แต่ความสามารถที่เพิ่มเข้ามาใน Canon EOS 6D นี้ช่วยแก้ปัญหากับการทำงานในสภาพที่เราไม่สามารถควบคุมได้ดี เช่น งานแบบ Documentary ที่ส่วนใหญ่เราไม่สามารถเลือกวันหรือช่วงเวลาได้ นอกจากความแม่นยำในการโฟกัสแบบปกติ เรายังสามารถเข้าไปปรับตั้งประเภทของการโฟกัส ข้างในหมวด Autofocus ให้เหมาะกับการใช้งานตามสไตล์การทำงานของแต่ละคนได้อีก การ push ISO เพื่อช่วยในการทำงานในสภาพแสงน้อย ก็ทำได้อย่างสบายใจมากขึ้น ด้วย Canon CMOS sensor ขนาด 20.2MP ลดปัญหาการเกิด Noise แม้จะ push ISO ไปสูงๆ (100-25600)

 

 

     ก่อนที่ผมจะได้ทดลองใช้ Canon EOS 6D ผมมักพบเจอปัญหาเกี่ยวกับการเกิด Noise เพราะหลายๆ ครั้งสภาพแสงไม่อำนวย ทำให้เราจำเป็นต้อง push ISO ขึ้นเพื่อช่วยในการทำงาน และไปปรับแก้ในโปรแกรมภายหลัง ซึ่งเซนเซอร์ตัวใหม่ที่ใส่เข้ามาในกล้องตัวนี้ ทำให้ลดปัญหาเวลาที่ปรับ ISO ขึ้นไปสูงๆ ได้ดีทีเดียว นอกจากจะสร้างโอกาสให้ได้ภาพที่ดี ยังลดการปรับแก้ไฟล์ภายหลังได้อีก แล้วเวลาที่ใช้ทำงานก็ยังน้อยลงตามไปด้วย

 

 

    อีกส่วนสำคัญที่เพิ่มเข้ามาใน Canon EOS 6Dคือ การติดตั้ง Wi-Fi function ไว้ในตัวกล้อง เพียงดาวน์โหลด App. EOS Remote และเชื่อมต่อเข้ากับ iPhone หรือ iPad เลือกโหมด Camera image viewing แค่นี้เราก็สามารถทำงานนอกสถานที่และเช็คภาพเบื้องต้นในโทรศัพท์มือถืออย่างง่ายได้โดยไม่จำเป็นต้องพกพาอุปกรณ์ติดตัวไปมากมาย ในตัวโปรแกรมยังสามารถแสดงรายละเอียดของข้อมูลค่า Setting ต่างๆ ที่เราตั้งไว้ครบถ้วน โดยสามารถเลือกดูได้ทั้งแบบ contact sheet หรือ preview รูปต่อรูป เพื่อมาร์ครูปที่ต้องการจำไว้แบบพิเศษ นอกจากนี้ยังสามารถเซฟรูปหรือส่งเมล์ไฟล์ Low res ของรูปนั้นๆ ผ่านมือถือได้ทันที เช่น งานภาพข่าวที่ต้องการความไวต่อสถานการณ์ หากถ่ายงาน Architecture, Interior หรือ Landscape สามารถเปลี่ยนเป็น Remote shooting ใช้แทนสายลั่นชัตเตอร์ เพื่อใช้ในงานที่ต้องการความนิ่งของกล้องมากๆ หรือแม้จะต้องอยู่ห่างจากพิกัดที่ตั้งกล้องเอาไว้ ก็เพียงตั้งระบบเป็น Autofocus แค่นี้ก็สามารถสั่งโฟกัสได้จากมือถือโดยตรง

 

 

     ในความเป็นจริง งานส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นไปตามความคิดที่วางไว้ทั้งหมด แม้จะวางแผนมาเรียบร้อยแค่ไหน แค่ควบคุมไม่ให้หลุดไปจากที่คิดไว้มาก ก็ถือว่าดีแล้ว ผมคิดว่านี่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของ งานถ่ายภาพ อย่างที่บอกไว้ข้างต้น เราเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากการที่เราพยายามทำความเข้าใจกับธรรมชาติรอบตัว ไม่มีอะไรสมบูรณ์พร้อม เพราะถ้าสมบูรณ์เราจะไม่พัฒนา เหลือส่วนที่เว้าแหว่งไว้ให้เราได้เติบโตน่าจะเป็นเรื่องที่ดี และสำหรับ Canon EOS 6D โดยรวมถือว่าถูกใจมาก เอาปัญหาใหญ่ๆ ของ Canon EOS 7D มาแก้ไขได้อย่างตรงจุด ทำให้ช่างภาพสร้างโอกาสในขั้นตอนการถ่ายภาพได้อย่างเต็มที่


 

เรื่องและภาพ พิชาญ สุจริตสาธิต

ช่างภาพ Portrait & Documentary หลายๆ คนคุ้นชื่อพิชาญ หรือปุ้ย จากนิตยสาร OOM (บ้านอุ้ม) นอกจากนี้เขายังได้ถ่ายภาพให้กับหนังสือและนิตยสารอีกหลายเล่ม อาทิ สำนักพิมพ์วงกลม, สำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์, นิตยสาร Elle Decoration เป็นต้น ภาพถ่ายของพิชาญมีจุดเด่นอยู่ตรงที่สื่อความหมายและความรู้สึกไว้ในทุกๆ ภาพ นอกจากถ่ายภาพพอร์ตเทรตเขายังสนใจถ่ายภาพแนวอินทีเรีย(Interior) ด้วย โดยที่ภาพของเขาก็ยังคงเน้นเรื่องแสงและเงา และคงความไม่หวือหวาเอาไว้ นอกจากมองอะไรก็เป็นภาพถ่าย ผู้ชายคนนี้ยังสนใจในรายละเอียดแต่ละวันของการใช้ชีวิต และการทำหนังสืออย่างสม่ำเสมอด้วย